คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  • ประเภทบทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร WESR

    WESR เผยแพร่บทความ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก มีดังนี้

    1) รายงานโรคเฝ้าระวังทางระบาดวิทยารายสัปดาห์

    2) สรุปการตรวจสอบข่าวการระบาดของโรค/ภัยสุขภาพในรอบสัปดาห์

    3) รายงานเหตุการณ์ด้านสุขภาพที่ได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งรวมถึงแนวทางการเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ/รายงานเบื้องต้นของการระบาดของโรคหรือภัยสุขภาพ/ความคืบหน้าโครงการวิจัย/การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพ*

    4) บทความต้นฉบับ

    • การสอบสวนทางระบาดวิทยา
    • งานวิจัยทางระบาดวิทยา
    • การประเมินแผนงานสาธารณสุขและการประเมินการเฝ้าระวัง
    • การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพ
    • บทความฟื้นวิชา
    • รายงานผู้ป่วย

     

    บทความประเภทที่ 1-3 นี้ ได้รับการตรวจสอบแก้ไขโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ท่าน และหัวหน้ากองบรรณาธิการก่อนได้รับการเผยแพร่ ส่วนบทความประเภทที่ 4 บทความต้นฉบับ ที่ได้รับจากผู้เขียนจะผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ก่อนได้รับการเผยแพร่

  • ความถี่ของการเผยแพร่วารสาร WESR

    เผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์รายเดือน ประกอบด้วยบทความต้นฉบับ 4-5 บทความและรายงานการเฝ้าระวังโรครายสัปดาห์

  • ค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสาร WESR

    ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เขียนในการส่งบทความตีพิมพ์และเผยแพร่

  • การประเมินบทความมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

    การประเมินบทความเบื้องต้น : เมื่อส่งบทความต้นฉบับจะได้รับการตรวจสอบครั้งแรกโดยผู้จัดการวารสารและบรรณาธิการบริหาร และได้รับการตรวจสอบการลอกเลียนแบบในหน้าจริยธรรมในการตีพิมพ์ บทความต้นฉบับที่มีรูปแบบไม่ถูกต้อง ภาษา/รูปแบบที่ยอมรับไม่ได้ หรือเอกสารไม่ครบถ้วน จะมีการแจ้งเจ้าของบทความเพื่อทำการแก้ไขและส่งต้นฉบับมาใหม่ โดยจะถูกส่งกลับไปยังผู้เขียนเพื่อแก้ไขก่อนที่จะส่งต่อไปยังการตรวจประเมินบทความ

             กระบวนการพิจารณาบทความ : ต้นฉบับที่ผ่านการคัดกรองจะถูกส่งต่อไปยังบรรณาธิการเพื่อการประเมินคุณภาพ และพิจารณาหาผู้เหมาะสมในการประเมินหรือทบทวนบทความ (reviewers) บทความทุกบทความจะต้องผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 ท่าน ทั้งนี้ ผู้ประเมินบทความจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับต้นฉบับนั้น ๆ โดยผู้ประเมินบทความดังกล่าวมาจากหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของเจ้าของต้นฉบับ และการส่งต้นฉบับให้แก่ผู้ประเมินบทความนั้น จะมีการปิดบังชื่อและหน่วยงานของเจ้าของบทความไว้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แต่งไม่ทราบชื่อกันและกัน (double-blind review)

  • ระยะเวลาการพิจารณายอมรับให้ตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสาร WESR

    ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ถึงจะทราบผลการพิจารณาว่าได้ตีพิมพ์หรือไม่ ตั้งแต่การส่งบทความที่ถูกต้องตามรูปแบบของวารสารจนถึงทราบผลการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ช่วงเวลาที่จะได้ตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของบทความที่ผู้เขียนแก้ไขกลับมายังผู้จัดการวารสารและกองบรรณาธิการ

  • เอกสารที่ต้องส่งมาพร้อมกับบทความวิชาการให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ DDC clearance เพื่อขอรับการประเมินบทความวิชาการใน WESR

    DDC clearance หมายถึง กระบวนการพิจารณาเพื่อกำกับให้การเผยแพร่ผลงานของบุคลากร กรมควบคุมโรคเป็นไปตามมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิชาการ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดจริยธรรมการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการสมัครการเผยแพร่ หากผู้เขียนอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ ผู้เขียนต้องส่ง หนังสือ (หน่วยงานนอกกรมควบคุมโรค)/บันทึกข้อความ (หน่วยงานนอกกรมควบคุมโรค) แสดงความจำนงลงผลงานตีพิมพ์ใน WESR โดยได้ผ่านการรับรองความถูกต้องของบทความจากสังกัดหน่วยงานที่ทำงาน และผู้ร่วมเขียน มายังผู้จัดการวารสารและกองบรรณาธิการ ตามรูปแบบในคำแนะนำผู้แต่ง ดังลิงก์ https://drive.google.com/drive/u/1/folders/1417wCwthrEtk_npVOBbIEknyG52sK1AN

  • ข้อกำหนดในการเขียนบทคัดย่อไทย-อังกฤษ

    บทคัดย่อทั้งไทยและอังกฤษ เขียนเป็นหัวข้อ คือ บทนำและวัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการศึกษา อภิปรายและข้อเสนอแนะ ไม่ต้องมีเชิงอรรถ ไม่อ้างอิง บทคัดย่อต้องเขียนทั้งภาษาไทย ไม่เกิน 550 คำ และภาษาอังกฤษ ไม่เกิน 450 คำ โดยเขียนเนื้อหาสำคัญเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ระบุตัวเลขทางสถิติที่สำคัญ ใช้ภาษารัดกุมเป็นประโยคสมบูรณ์

  • การเขียนเอกสารอ้างอิงใช้รูปแบบใด

    การอ้างอิงเอกสารใช้ระบบ Vancouver เขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หากเอกสารอ้างอิงมีต้นฉบับเป็นภาษาไทย ผู้นิพนธ์ต้องแปลรายการเอกสารอ้างอิงนั้นเป็นภาษาอังกฤษและระบุ "(in Thai)" ท้ายรายการเอกสารอ้างอิงนั้น ผู้เขียนมีหน้าที่รับผิดชอบในความถูกต้องของเอกสารที่อ้างอิง การอ้างถึงเนื้อหาบทความในแต่ละข้อความควรมีหมายเลขเฉพาะ พิมพ์หมายเลขในวงเล็บเป็นลักษณะตัวพิมพ์ยกข้างท้ายข้อความที่อ้าง เริ่มต้นที่หมายเลข 1 การอ้างอิงครั้งแรกและเรียงลำดับต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงท้ายบท ถ้าผู้เขียนอ้างอิงบทความนั้นมากกว่าหนึ่งครั้ง ให้ใช้หมายเลขอ้างอิงเดียวกัน กรณีเป็นวารสารต่างประเทศ กรุณาใช้ชื่อย่อตามหนังสือ Index Medicus ข้อผิดพลาดใด ๆ เกี่ยวกับการอ้างอิงจะทำให้กระบวนการส่งล่าช้าเนื่องจากการขอรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้เขียนเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ